Choose your country / language

การสึกหรอและไตรโบโลยี

ผลกระทบทางไตรโบโลยีภายใต้การตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์

การสึกหรอและไตรโบโลยี

คำตอบสำหรับปัญหาการสึกหรอนั้นจะต้องเริ่มต้นจากการตรวจสอบวิเคราะห์ระบบไตรโบโลยีอย่างละเอียด โดยพิจารณารวมถึงปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง จากนั้น จึงจะสามารถสรุปได้ว่า สภาพความเสียดทานและลักษณะการสึกหรอใดบ้างที่จะต้องนำมาพิจารณา รวมถึง สภาพและลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบเมื่อใดบ้าง

ในทางปฏิบัตินั้น มักจะมีผลกระทบมากกว่าหนึ่งอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงเวลาหนึ่งๆ หรืออาจเกิดขึ้นติดต่อกันในระหว่างกระบวนการสึกหรอ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีผลกระทบเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญจนส่งผลให้เกิดความเสียหายเนื่องจากการสึกหรอ

ประสบการณ์ของเราแสดงให้เห็นว่า การปรับปรุงระบบไตรโบโลยีให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นนั้นสามารถทำได้ โดยการเลือกการเคลือบผิวที่เหมาะสม

ระบบไตรโบโลยี

ระบบไตรโบโลยีประกอบด้วยพื้นผิวของสองชิ้นส่วน ซึ่งสัมผัสกันเองหรือสัมผัสกับวัตถุรอบข้างในระหว่างที่มีการเคลื่อนที่ โดยประเภท การลุกลาม และความรุนแรงของการสึกหรอนี้จะขึ้นอยู่กับวัสดุและลักษณะผิวของชิ้นส่วน วัสดุคั่นกลางระหว่างทั้งสองพื้นผิว ปัจจัยรอบข้าง และสภาพการทำงาน

  1. วัสดุฐาน
  2. วัสดุตรงข้าม
  3. ปัจจัยรอบข้าง: อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความดัน
  4. วัสดุคั่นกลาง: น้ำมัน จาระบี น้ำ อนุภาค วัตถุปนเปื้อน
  5. แรงกด
  6. การเคลื่อนที่

ลักษณะการสึกหรอที่มักจะพบได้บ่อย ได้แก่:

  • การสึกหรอจากการเสียดสี

    การที่เนื้อวัสดุหลุดออก เนื่องจากอนุภาคที่มีความแข็งและคมเข้าไปติดอยู่ระหว่างพื้นผิวที่สัมผัสกัน การสึกหรอในลักษณะนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจากพื้นผิวที่แข็งหรือมีขอบคมและส่วนยอดของผิวหยาบที่พื้นผิวใดพื้นผิวหนึ่ง

    ผลจากการสึกหรอในลักษณะนี้ ได้แก่ รอยขูดขีด ร่อง การกะเทาะจุลภาค ขนาดที่ไม่ถูกต้อง และจุดมันเงาบนผิวเครื่องมือที่มีลาย

  • การสึกหรอจากการยึดติด

    ภายใต้สภาพการทำงานที่มีการหล่อลื่นไม่เพียงพอ พื้นผิวสัมผัสกันอย่างไม่เหมาะสม หรือการทำงานแบบแห้ง พื้นผิวทั้งสองด้านที่เสียดสีกันจะเกิดการเชื่อมติดเข้าด้วยกัน ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่พื้นผิวของวัสดุมีองค์ประกอบเดียวกัน หรือมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน

    ผลจากการสึกหรอในลักษณะนี้ ได้แก่ การเชื่อมติดเย็น การถลอก รอยขีดข่วน หลุม การติดขัด การสะสมของเศษที่คมตัด และการหักของเครื่องมือ

  • ความล้าของพื้นผิว

    วัสดุที่อยู่ภายใต้ความเค้นทางกลซ้ำๆ สลับกันมักจะเกิดการแตกร้าวที่อาจลามเพิ่มได้ใต้พื้นผิวที่ถูกเค้น ส่งผลให้วัสดุเสียหายจนใช้งานไม่ได้

    ผลจากการสึกหรอในลักษณะนี้ ได้แก่ รอยแตกร้าวในแนวขวางและตามแนวสัน หลุมและหลุมระดับจุลภาค (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสัมผัสที่เป็นการรีด) และการหักของเครื่องมือ

  • ปฏิกิริยาไตรโบเคมี

    ปฏิกิริยาไตรโบเคมี (ไตรโบ-อ็อกซิเดชั่น)

    การสัมผัสโดยมีการไถลทางไตรโบโลยีจะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ผลิตภัณฑ์เคมีจากปฏิกิริยาดังกล่าวจะส่งผลต่อกระบวนการทางไตรโบโลยีที่พื้นผิว เช่น คู่ชิ้นงานที่มีพิกัดความเผื่อต่ำอาจมีการติดขัดได้

    การสึกหรอแบบไตรโบเคมีในระหว่างการตัดเป็นผลมาจากการแพร่ โดยทั่วไปแล้ว การสึกหรอแบบไตรโบเคมีนั้นจะรุนแรงขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น สาเหตุที่พบได้บ่อยของการสึกหรอแบบไตรโบเคมีคือ การออกซิเดชั่น

    ผลจากการไตรโบออกซิเดชั่น ได้แก่ การกัดกร่อนเนื่องจากการถูครูด

  • การกัดกร่อน

    การกัดกร่อนเป็นผลมาจากปฏิกิริยาเคมีหรือเคมีไฟฟ้าระหว่างโลหะกับสารที่สัมผัสโดนโลหะนั้นๆ เช่น สารอิเล็กโทรไลต์ ก๊าซที่มีความชื้น หรือสารหลอม นอกจากนั้นแล้ว แรงทางกลยังอาจส่งผลให้เกิดการกัดกร่อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

    ผลจากการสึกหรอในลักษณะนี้ ได้แก่ ความเสียหายจากการเสียดสี การกัดกร่อนเป็นหลุม การแตกร้าว และสนิม

keyboard_arrow_up