Choose your country / language

สร้างสรรค์อนาคตของวงการอากาศยาน

สร้างสรรค์อนาคตของวงการอากาศยาน

รู้จักกับสถาบันวิจัยเซรามิก (IRCER)

เออร์ลิคอนมีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานกับเมืองที่อยู่ใจกลางของฝรั่งเศสอย่าง ลิโมจส์ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยประจำเมือง และวันนี้ ความสัมพันธ์นี้กำลังก้าวไปอีกขั้นหนึ่งเข้าสู่จุดเริ่มต้นครั้งใหม่ เราจะพาคุณไปรู้จักกับสถาบันวิจัยเซรามิก (IRCER จากภาษาฝรั่งเศส Institut de recherche sur les céramiques) พร้อมทั้งพูดคุยกับ ฟิลิปป์ โทมัส ผู้อำนวยการของสถาบัน และอเลน เดอนัวร์ฌอง หัวหน้าฝ่ายวิจัยงานพ่นเคลือบด้วยความร้อน

และก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นกันที่ IRCER (ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1975 และมีพนักงานกว่า 200 คน) นั้นมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองลิโมจส์ เมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในฐานะแหล่งผลิตเครื่องใช้อินาเมลและพอร์ซเลนตามแบบฉบับดั้งเดิม มหาวิทยาลัยประจำเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักงานใหญ่ของ IRCER มีจำนวนนักเรียนประมาณ 15,000 คน สำนักงานใหญ่อีกแห่งหนึ่งของ IRCER คือศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (CNRS: Centre national de la recherche scientifique) ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการวิจัย โดย CNRS นั้นเน้นไปที่งานวิจัยพื้นฐานทั่วไป และยังเป็นองค์การวิจัยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป โดยมีจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 32,000 คน

เพียงเดินแค่ไม่กี่นาทีจากอาคารหลักที่ทันสมัยของ IRCER ก็จะเป็นที่ตั้งของเออร์ลิคอน บัลเซอร์ส ฝรั่งเศส ซึ่งเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านการเคลือบผิวขั้นสูงที่ใช้ในวงการกีฬามอเตอร์สปอร์ต ในส่วนของ IRCER เองนั้น มีหัวข้อวิจัยหลักสี่ด้านด้วยกัน และหนึ่งในนั้นก็คือ การอบชุบพื้นผิว ฟิลิปป์ โทมัส อธิบายว่า “เราไม่ได้แค่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและ CNRS เท่านั้น แต่เรายังทำงานร่วมกับพันธมิตรอีกหลายรายจากภาคอุตสาหกรรม โดยเราจะคอยดูแลด้านการวิจัยพื้นฐานต่างๆ ให้กับบริษัทเหล่านี้เป็นงานๆ ไป นอกจากนี้ เรายังมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยร่วมกับอีกสองบริษัทด้วยเช่นกัน”

ความร่วมมือกับเออร์ลิคอนและซาฟรองเป็นผลมาจากความสัมพันธ์อันยาวนานกับทั้งสองฝ่าย

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สื่อต่างๆ ได้รับข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความร่วมมือนี้ “ซาฟรอง เออร์ลิคอน CNRS และมหาวิทยาลัยลิโมจส์กำลังก่อสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมและศูนย์เทคโนโลยีด้านการอบชุบพื้นผิวในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส” คือพาดหัวข่าวที่กลายเป็นที่พูดถึง (ดูหน้าถัดไป) โดยตัวแทนระดับสูงจากพันธมิตรทุกฝ่ายได้ลงนามเซ็นสัญญาร่วมกัน ณ งาน “ปารีส แอร์ โชว์”
ความร่วมมือนี้ประกอบด้วยสองโครงการสำคัญ ได้แก่ PROTHEIS ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยร่วมและ SAFIR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม (Technology Platform)

ในมุมมองของทั้งฟิลิปป์ โทมัสและอเลน เดอนัวร์ฌอง ความร่วมมือนี้เป็นผลมาจากความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่าง IRCER กับทั้งเออร์ลิคอนและซาฟรองกรุ๊ป หนึ่งในบริษัทด้านอากาศยานของฝรั่งเศส “การที่เราสร้างสถาบันวิจัยร่วมนี้ขึ้นมาร่วมกับพันธมิตรทั้งสองบริษัทของเรา นั่นหมายความว่า เราสามารถทำงานร่วมกันและนำผลงานวิจัยของเราไปใช้ได้โดยตรงกับอุตสาหกรรมอากาศยาน!” PROTHEIS จะดูแลเฉพาะในส่วนของงานวิจัยพื้นฐานและนวัตกรรมในกลุ่ม TLR 1–4 (Technology Readiness Level*) หรือระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี) ของพันธมิตรในโครงการโดยเฉพาะ

ในทางกลับกัน เทคโนโลยีแพลตฟอร์มอย่าง SAFIR จะดูแลในงานต่างๆ จนถึงระดับ TLR 6 (ความหมายก็คือ ต้นแบบในสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหัวข้อวิจัย และเปิดให้สำหรับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด “นั่นหมายความว่า เราจะมีงานวิจัยที่ ‘สามารถขายได้’ ในขณะที่ยังคงสามารถปรับปรุงเทคโนโลยีการเคลือบผิวไปได้พร้อมๆ กัน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเรา” อเลน เดอนัวร์ฌอง กล่าว ทุกคนสามารถสัมผัสได้ถึงความกระตือรือร้นของเขา และเขาเองก็ตื่นเต้นกับการที่จะได้ทำงานกับแพลตฟอร์มใหม่นี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 “เราจะได้ทำงานกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด รวมไปถึงเครื่อง INNOVENTA Kila จากเออร์ลิคอน บัลเซอร์สและระบบพ่นเคลือบด้วยความร้อนจากเออร์ลิคอน เมทโก้ เรายังมีสถานีทดสอบที่เราสามารถทำการทดสอบได้ภายใต้สภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรม ... แต่น่าเสียดายที่เรายังต้องรอไปก่อนจนกว่าอาคารหลังใหม่จะก่อสร้างเสร็จ เพราะสิ่งที่ผมกำลังพูดถึงนี่ คือห้องปฏิบัติการและออฟฟิศที่มีพื้นที่รวมประมาณ 1,000 ตารางเมตรเลย!”

การที่เราสร้างสถาบันวิจัยร่วมนี้ขึ้นมาร่วมกับพันธมิตรทั้งสองบริษัทของเรา นั่นหมายความว่า เราสามารถทำงานร่วมกันและนำผลงานวิจัยของเราไปใช้ได้โดยตรงกับอุตสาหกรรมอากาศยาน!

หัวข้อหลัก: ขีดจำกัดการใช้งานในอุตสาหกรรมอากาศยาน

แล้วมีงานอะไรบ้างที่กำลังมีการวิจัยอยู่ในขณะนี้? อเลน เดอนัวร์ฌอง อธิบายว่า “เรากำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับขีดจำกัดการใช้งานในอุตสาหกรรมอากาศยาน ตัวอย่างเช่น เราอยากที่จะรู้ว่า เราจะสามารถป้องกันวัสดุคอมโพสิตอินทรีย์ที่ใช้ลดน้ำหนักของเครื่องบินจากการกัดเซาะและฟ้าผ่าได้อย่างไร หรือเราจะสามารถป้องกันชั้นเคลือบผิวกันความร้อน (Thermal Barrier Coating) จากการแทรกซึมของแคลเซียมแมกนีเซียมอะลูมิโนซิลิเกต (CMAS) ได้อย่างไร เพราะว่า CMAS ซึ่งก็คือทรายหรือเถ้าภูเขาไฟ สามารถที่จะแทรกซึมเข้าไปในชั้นเคลือบผิวได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์อากาศยานที่ต้องอยู่ภายใต้ความร้อนสูงกว่า 1,250°C นอกจากนี้ เราก็ยังอยากที่จะรู้ว่า เราจะสามารถเคลือบผงที่ละเอียดมากๆ ลงบนพื้นผิวโดยใช้ของเหลวช่วยได้อย่างไร และสุดท้าย เราจะรวมกระบวนการต่างๆ เช่น การพ่นเคลือบด้วยความร้อนและการเคลือบผิวแบบ PVD เข้าด้วยกันได้อย่างไร เราอยากจะหาคำตอบทั้งหมดนี้ด้วยอุปกรณ์ใหม่ๆ รวมทั้งการจำลอง การตรวจสอบ การทดสอบ และการวิเคราะห์กระบวนการไปจนถึงการประมวลผลข้อมูล”

ก้าวสู่อนาคตของการบิน

ผลิตภัณฑ์และบริการด้านอุตสาหกรรมอากาศยานของเออร์ลิคอนมีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวและเครื่องเคลือบผิวคุณภาพสูง ไปจนถึงวัสดุขั้นสูงและกระบวนการผลิตแบบเพิ่มเนื้อโลหะ ซึ่งทำให้เออร์ลิคอนกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก จิลเลส วิดอว์สกี ประธานบริษัทเออร์ลิคอน ฝรั่งเศส อธิบายว่า “เราเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ผลิต โดยการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน สถาบันวิจัยร่วมนี้เป็นการเปิดประตูให้เราสามารถนำความเชี่ยวชาญของเรามาผสานรวมกับแผนวิจัยและพัฒนาของซาฟรอง ซึ่งเป็นลูกค้าของเราและหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์อากาศยานรายใหญ่ที่สุด เพื่อร่วมกันก้าวสู่อนาคตของเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์”

www.ircer.fr

ความร่วมมือในการสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมและเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม
ซาฟรอง เออร์ลิคอน CNRS และมหาวิทยาลัยลิโมจส์มีเป้าหมายที่จะสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมในชื่อ PROTHEIS และเทคโนโลยีแพลตฟอร์มในชื่อ SAFIR ทั้งสองโครงการนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับเทคโนโลยีอบชุบพื้นผิวของซาฟรอง เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาลงและอายุการใช้งานยาวนานขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถลดมลพิษทางเสียงและไนโตรเจนออกไซด์ลงได้ตามข้อกำหนด REACH ของยุโรปและยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการในทุกๆ ด้านของอุตสาหกรรมอากาศยานทั้งในวันนี้และอนาคต ในขณะที่เออร์ลิคอนคาดหวังว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยผลักดันความก้าวหน้าอีกขั้นให้กับศักยภาพที่แข็งแกร่งอยู่แล้วของบริษัทตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าในอุตสาหกรรมอากาศยาน โดยเออร์ลิคอนมีส่วนร่วมกับความร่วมมือในครั้งนี้ในส่วนของความเชี่ยวชาญเชิงลึกและประสบการณ์ที่ยาวนานในด้านวัสดุขั้นสูง วิศวกรรมพื้นผิว และอุปกรณ์คุณภาพสูงระดับอุตสาหกรรมที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม งานวิจัยที่จะดำเนินการนี้จะยึดตามแนวทางข้อกำหนดของซาฟรอง โดยเป็นการทำวิจัยร่วมกันระหว่างซาฟรอง เออร์ลิคอน และ IRCER

* Technology Readiness Levels หรือระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (TRLs) คือวิธีการสำหรับการประเมินความสมบูรณ์แบบของเทคโนโลยี TLR 1-4 นั้นรวมการวิจัยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน, การวิจัยเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ และอาจจะรวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในขั้นแรก

ติดต่อเรา

Petra Ammann

Petra Ammann

Head of Product Marketing Communications

© Copyright 2025 OC Oerlikon Management AG

กลับไปที่ด้านบน keyboard_arrow_up

keyboard_arrow_up